แถลงการณ์ถึงประชาชน ฉบับที่ 1

แถลงการณ์ถึงประชาชน ฉบับที่ 1

แถลงการณ์ถึงประชาชน
ร่วมจับตาปฏิรูปพลังงานไทย

พลังงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสาธารณสมบัติของประชาชนทุกคน และยังจะมีผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน ทั้งในแง่ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยส่วนรวม ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความโปร่งใส ความมีธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ กิจการพลังงานของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ (ธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม) กลางน้ำ (ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การขนส่งน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า) และปลายน้ำ (การจำหน่ายไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซ LPG และ NGV) อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม เกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร การมีอำนาจเหนือตลาด และยังมีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐบาลที่ยอมให้มีการกำหนดราคาเชื้อเพลิงได้ตามที่กลุ่มธุรกิจผูกขาดพลังงานต้องการ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ นักการเมืองและข้าราชการที่มีหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลด้านพลังงาน ต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในกิจการพลังงานเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยสภาพปัญหาดังกล่าว เราในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย และเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ จึงได้รวมตัวกันในนาม “กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย” (จปพ.) โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้พลังงานมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง

2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบการกำกับกิจการพลังงานและการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และคุ้มครองผู้บริโภค

3. ส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิและอิสระในการนำทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่มีในทุกชุมชนท้องถิ่นมาผลิตพลังงานเพื่อประโยชน์ของชุมชนและการพึ่งตนเองของประเทศชาติ

4. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง

ข้อเสนอเร่งด่วนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ครส.)

1. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยเท่าเทียมกันกับภาครัฐและภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ประเด็นการแยกโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาตั้งเป็นบริษัทใหม่และแปรรูปเป็นเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ การขายหุ้นปตท. เป็นต้น

2. ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG กับประชาชน โดยให้ดำเนินการดังนี้

2.1 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ที่ให้มีการจัดสรรก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศให้ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรกร่วมกับภาคครัวเรือนออกไปเสียก่อน เนื่องจาก LPG ที่ผลิตได้ในประเทศถูกภาคปิโตรเคมีใช้มากเป็นอันดับหนึ่ง จนไม่พอเพียงต่อการใช้ของภาคส่วนและต้องมีการนำเข้า โดยภาระการนำเข้าเป็นของประชาชนทั้งหมด

2.2 ให้มีมติในการจัดสรรก๊าซ LPG ขึ้นใหม่ โดยให้ LPG ที่ผลิตได้จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ด้วยราคาตามต้นทุนที่แท้จริงบวกกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิต มิใช่อิงราคาตลาดโลก เมื่อเหลือจึงให้ภาคอื่นใช้ หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเอง โดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติต้องเผยแพร่รายงานต้นทุนการประกอบการที่แท้จริง

2.3 ให้ลดราคาก๊าซ LPG ของภาคครัวเรือนให้กลับไปเท่ากับราคา LPG ของภาคขนส่งที่ 21.38 บาท/กก. เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ข้ามประเภทระหว่าง 2 กลุ่มนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการลักลอบใช้ LPG ของภาคอุตสาหกรรมมิให้มีการใช้ผิดประเภท และการลักลอบส่งขายต่างประเทศ

3. ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้ยกเลิกการเก็บค่าพรีเมี่ยม เช่น ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าความสูญเสียระหว่างการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทยซึ่งไม่มีจริง และให้รัฐบาลกำหนดราคาจำหน่ายเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามราคาส่งออกจากไทยซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาดโลก และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น

4. ให้ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้มีตัวแทนของภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ค : กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย-Thai-Energy-Reform-Watch และ https://terwatch.wordpress.com/

รายชื่อสมาชิกกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย(จปพ.)
Thai Energy Reform Watch (TER Watch)

1. นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการ
2. นายประสาท มีแต้ม นักวิชาการ
3. นายไพบูลย์ ช่วงทอง นักวิชาการ
4. นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการ
5. นายสันติสุข โสภณสิริ นักวิชาการ
6. มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการ
7. นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
8. นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
9. นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
10. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร
11. นางสาวบุญยืน ศิริธรรม อดีตวุฒิสมาชิก สมุทรสงคราม

7 คิดบน “แถลงการณ์ถึงประชาชน ฉบับที่ 1

  1. เห็นด้วยค่ะ ภาคอุตสาหกรรมได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับการจัดปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณมาก จึงขอให้ใช้ LPG ในราคาเดียวกับภาคประชาชน

  2. ขอความกระจ่างชัดว่าประเทศไทยมีน้ำมันเท่าไหร่กันแน่ ขอให้ผู้ผลิต ผู้ได้รับสัมประทาน โรงกลั่น ปตท. เปิดเผยได้ไหมเหมือนกับที่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง ทำไมเรือน้ำมันในอ่าวไทยเยอะจัง ทำอะไรต้องโปร่งใสครับ

  3. เห็นด้วยกับราคาlpgครัวเรือน เท่ากับราคาภาคขนส่ง แต่ถ้าราคาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก การที่ป้องกันลักลอบส่งออก lpg จำทำได้ยาก มีวิธีอย่างไร เอาทรัพยากรเมืองไทยให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ใช้ของถูก?

  4. 1กาซธรรมชาติต้องเป็นไปตามราคาตลาด และต้องไม่ตำกว่า clmv เกินไป เพื่อกันกาซ ไปส่งออกโดยไม่ตั้งใจ
    2 ระบบ Fit ล้มเหลวในยุโรป สนพ.ต้องเปลี่ยนธง หรือไม่ก็เปลี่ยนให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้กำหนดส่วนเพิ่ม
    3 ราคาน้ำมันต้องเป็นไปตามราคาตลาด ไม่ควรบิดเบือน

    พิชัย@สอท 0818224782

ใส่ความเห็น